วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พระไตรปิฎกในแง่กถา 3 และศาสน์ 3

1.พระไตรปิฎกในแง่กถา 3         กถา แปลว่า เรื่องราว ถ้อยคำ คำกล่าว หรือคำอธิบาย เช่น สีลกถา คือ ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล หรือคำอธิบายเกี่ยวกับศีล สมธิกถา คือ การกล่าวถึงสมาธิ หรือคำอธิบายเกี่ยวกับสมาธิ ปัญญากถา คือ คำอธิบายเกี่ยวกับปัญญา หรือถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา เป็นต้น
         ในพระพุทธศาสนาแบ่งกถาออกเป็น 3 กถา เพื่อให้สอดคล้องกับปิฎกทั้งสาม ได้แก่
            1.สังวราสังวรกถา คือ การอธิบายหรือการกล่าวถึงการสำรวมและการไม่สำรวมความประพฤติ
            2. ทิฏฐินิเวฐนกถา คือ การอธิบายหรือการกล่าวเพื่อแก้หรือคลายความเห็นผิด
            3. นามรูปปริจเฉทกถา คือ การอธิบายหรือการกล่าวโยกำหนดเพียงนามและรูปเท่านั้น
พระวินัยปิฎก เรียกว่า สังวราสังวรกถา เพราะพระวินัยปิฎกนี้มีสาระสำคัญเน้นให้สำรวมระวังทางกาย วาจา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์ปฏิบัติตนเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของผู้พบเห็น เช่น
   - พระภิกษุพึงระมัดระวังไม่ให้ผิดศีล 227 ข้อ ที่ทรงบัญญัติไว้ (ปาติโมกขสังวรศีล)
   - พระภิกษุพึงระมัดระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเคลื่อนไหวในอิริยาบทใด ๆ ต้องเป็นไปด้วยความสำรวม ระวัง มีความเรียบร้อย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็น (อินทรียสังวรศีล)
   - พระภิกษุพึงระมัดระวังในอาชีพ อาชีพของพระภิกษุคือการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ อาศัยปัจจัยสี่ที่ชาวบ้านถวายเพื่อยังชีพเท่านั้น มิใช่อาศัยผ้าเหลืองหากินเป็นการสร้างความมัวหมองแก่พระศาสนา (อาชีวปริสุทธิศีล)
   - พระภิกษุพึงระมัดระวังในการบริโภคปัจจัยสี่ คือให้พิจารณาก่อนบริโภคว่า เราบริโภคปัจจัยสี่ เพื่อให้มีกำลังประพฤติธรรมและเผยแผ่พระศาสนา มิใช่ความหรูหราฟุ่มเฟือย หรือเพื่อความอยู่ดีกินดร (ปัจจัยสันนิสิตศีล) พระวินัยปิฎกที่อธิบายหรือกล่าวเรื่องในลักษณะนี้ จึงเรียกว่า สังวราสังวรกถา
พระสุตตันตะปิฎก เรียกว่า ทิฎฐินิเวฐนกถา เพราะพระสุตตันตปิฎกมีสาระสำคัญกล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อแก้หรือปลดเปลื้องความเห็นผิดของคนทั้งหลาย ทำให้คนเหล่านั้นมองเห็นตามความเป็นจริง เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในที่สุดตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งมาชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำล้างบาปที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ตรัสว่า ความบริสุทธิ์มิได้มีเพราะการอาบน้ำภายนอก แต่บริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำภายในพระธรรมวินัยของพระองค์ เมื่อพราหมณ์ยังไม่เข้าใจ พระองค์ก็ทรงยกอุปมามาอธิบายว่า ถ้าอาบน้ำแล้วคนบริสุทธิ์จากบาป คนก็สู้กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ได้ เพราะสัตว์เหล่านั้นอยู่ในน้ำตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการอาบน้ำภายนอกไม่ทำให้คนบริสุทธิ์ได้ แต่การอาบน้ำภายในคือการรักษาศีล ฝึกอบรมสมาธิ และพัฒนาปัญญาเท่านั้น จึงจะทำให้คนบริสุทธิ์คือพ้นจากความทุกข์ที่แท้จริง พราหมณ์ผู้นั้นได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้ความรู้ความคิดใหม่ ละทิ้งความเห็นเดิมของตน หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พระสุตตันตะปิฎกที่อธิบายหรือกล่าวเรื่องในลักษณะนี้ จึงเรียกว่า ทิฏฐินิเวฐนกถา
พระอภิธรรม เรียกว่า นามรูปปริจเฉทกถา เพราะอภิธรรมปิฎกมีสาระสำคัญกล่าวถึง
สภาวธรรมล้วน ๆ โยไม่พูดถึงบุคคล สัตว์ สิ่งของใด ๆ แต่เมื่อสรุปจะมีเพียง 2 ส่วน ได้แก่ รูป คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม มองเห็น จับต้องได้ และจะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่าง ๆ นาม คือ ส่วนที่เป็นนามธรรม มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ได้แก่ จิต เจตสิก และนิพพาน ตัวอย่างเช่น ที่เรียกว่าคนนั้น ความจริงก็คือนามรูปนั่นเอง ตราบใดที่ทั้ง 2 ส่วนนี้ยังคุมกันอยู่ทำงานอยู่ร่วมกันอยู่ ตราบนั้น คน ที่มีอยู่ เมื่อส่วนทั้ง 2 ดับสลายไปแล้ว คน ก็สูญสิ้นไป เพราะฉะนั้นที่เราเห็นว่าเป็นคนชื่อนั้นชื่อนี้เป็นเพียงสมมติเท่านั้น
พระอภิธรรมปิฎกที่อธิบายหรือกล่าวเรื่องในลักษณะนี้ จึงเรียกว่า นามรูปปริจเฉทกถา

2. พระไตรปิฎกในแง่ศาสน์ 3
         ศาสน์ หรือ สาสน์ หรือ สาสนา แปลว่า คำสอน การสั่งสอน หรือแนวการสอน เช่น สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา พุทธศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสน์เป็น 3 ศาสน์ เพื่อให้สอดคล้องกับปิฎกทั้งสาม ได้แก่
1. ยถาปราธศาสน์ คือ การสั่งสอนตามความผิดต่าง ๆ
2. ยถานุโลมศาสน์ คือ การสั่งสอนตามสมควร ได้แก่ การสั่งสอนตามอัธยาศัย ตามสันดาน ตามความประพฤ๖ ตามความโน้มเอียงของจิต
3. ยถาธัมศาสน์ คือ การสั่งสอนตามธรรม หรือตามสภาวะที่เป็นอยู่จริง ๆ ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่สภาวธรรมล้วน ๆ
         พระวินัยปิฎก เรียกว่า ยถาปราธศาสน์ เพราะพระวินัยปิฎกเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับศีลของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไว้ในลักษณะที่เป็นข้อห้ามและข้ออนุญาต ในส่วนที่เป็นข้อห้ามจะมีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ล่วงละเมิด มีทั้งโทษหนักที่สุดจนถึงเบาที่สุดลดหลั่นกันไปตามสมควรแก่ข้อบัญญัติว่าจะมีผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของพระพุทธสาสนามากน้อยเพียงใด เรื่องดังกล่าวนี้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนหลังจากเกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมขึ้นแล้ว แล้วทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้ทำอย่างนั้นอีกในอนาคต ถ้าฝ่าฝืนจะต้องอาบัติตามชนิดที่ทรวงบัญญัติ ส่วนผู้กระทำครั้งแรกอันเป็นต้นเหตุให้มีการบัญญัติ ไม่ต้องอาบัติ ตัวอย่างเช่น เรื่องการลักขโมย เดิมทียังไม่ทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามชัดเจน เพียงกล่าวเป็นหลักการกว้าง ๆ ว่า พระภิกษุไม่พึงทำเรื่อง 4 ประการ คือ การเสพเมถุน การถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ การฆ่ามนุษย์ การอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ต่อมามีพระภิกษุหนึ่งไปเอาไม้หลวงมาสร้างกุฏิ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงเรียกมาตำหนิทำโทษ แล้วเรียกประชุมสงฆ์ ทรงสอนว่าพระภิกษุไม่พึงกระทำอย่างนี้เป็นอันขาด แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ต่อไปนี้ห้ามพระภิกษุถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้มีราคาตั้งแต่ห้ามาสก* ขึ้นไป พระภิกษุรูปใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติปาราชิก (พ้นจากความเป็นพระภิกษุ)
* มาสก ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ห้ามาสกเป็นหนึ่งบาท

         เมื่อทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามแล้ว ต่อมามีพระภิกษุไปถือเอาของของชาวบ้านอีก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกมาสอบสวน เมื่อพระภิกษุรูปนั้นแย้งว่า พระองค์ทรงห้ามถือเอาของที่เขาไม่ให้ในป่าเท่านั้น ของในบ้านน่าจะถือเอาได้ ก็มทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าของคนอื่นจะอยู่ในบ้านหรือในป่า ห้ามพระภิกษุถือเอามาครองเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นอันขาด จะเห็นว่า ศีลหรือพระวินัยของพระสงฆ์คล้ายกฎหมายบ้านเมือง ต่างแต่กฎหมายตราเป็นข้อห้ามล่วงหน้า ส่วนศีลทรงบัญญัติหลังจากมีการกระทำอันไม่เหมาะสมเกิดขึ้นแล้ว พระวินัยปิฎกที่สั่งสอนในลักษณะนี้ เรียกว่า ยถาปราธศาสน์
         พระสุตตันตปิฎก เรียกว่า ยถานุโลมศาสน์ เพราะพระสุตตันตปิฎกเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับคำบรรยายธรรมที่อ้างอิงบุคคล สถานที่ เวลา และเหตุการณ์ประกอบ โดยในการสอนพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาคนฟังก่อนว่ามีอัธยาศัย สันดาน ความประพฤติ และความโน้มเอียงทางจิตอย่างไร แล้วจึงเลือกเรื่องสั่งสอนให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ทรงสอนชาวนาผู้มีความถนัดและประสบการณ์เกี่ยวกับการทำนา พระองค์ก็ตรัสสอนว่า พระองค์ทรงเป็นชาวนาเหมือนกัน เมื่อเขาถามว่า โคและที่นาของท่านอยู่ที่ไหน พระองค์ตรัสตอบว่า วิธีทำนาของพระองค์ไม่เหมือนชาวนาทั่วไป ในการทำนาของเราตถาคตนั้น ศรัทธาเป็นเมล็ดพันธุ์ ความเพียรพยายามเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติเป็นผาลและปะฎัก การทำนาชนิดนี้จะต้องมีการสำรวมกาย วาจา รู้จักประมาณในการกิน มีสัจจะ มีความสงบเสงี่ยม มีความบากบั่นไม่ท้อถอย เป็นองค์ประกอบอีกด้วย ผู้ทำนาอย่างนี้จะได้ข้าวอมตะ คือพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเมื่อทำได้ผลแล้วเป็นอันแล้วไปเลย ไม่ต้องมาทำซ้ำซากเหมือนชาวนาทั่วไป ชาวนาเมื่อได้ฟังพระพุทธองค์ทรงยกเรื่องการทำนามาพูดก็สนใจ ยิ่งได้ยินว่ามีการทำนาแบบใหม่ต่างจากที่คนเคยทำอยู่ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจขึ้น ฟังไปคิดไป ก็ได้รับความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น
พระสุตตันตปิฎกที่สั่งสอนในลักษณะนี้เรียกว่า ยถานุโลมศาสน์
         พระอภิธรรมปิฎก เรียกว่า ยถาธัมศาสน์ เพราะพระอภิธรรมปิฎกแทนที่จะพูดถึงบุคคลตัวตนเราเขา ก็พูดในแง่นามธรรมล้วน ๆ ตามสภาวะที่เป็นอยู่จริง ไม่มีเรา ไม่มีเขา ดังกล่าวมาแล้ว ตัวอย่างเช่น ที่เรียกว่าคนนั้น ความจริงก็คือ ส่วน 5 ส่วนที่เรียกว่า เบญจขันธ์ มาประชุมกันเข้า คือ
1. รูป ได้แก่ ร่างการและลักษณะอาการของร่างกาย ประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม ดิน หมายถึง ส่วนที่เป็นของแข็ง กินเนื้อที่ น้ำ หมายถึง ส่วนที่เป็นของเหลว ดูดซึม เกาะยึด ไฟ หมายถึง ส่วนที่เป็นความร้อนหรือุณหภูมิ ลม หมายถึง ส่วนที่เคลื่อนไหว
2. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึก ทุกข์ หรือเฉย ๆ จากการได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้คิด
3. สัญญา ได้แก่ การจำได้ หมายรู้ แยกแยะ และบอกได้ว่าเป็นอะไร
4. สังขาร ได้แก่ การคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เช่น เห็นงูเลื้อยมา เกิดความคิดว่า งูจะมากัด จึงคว้าก้อนอิฐปา เป็นต้น
5. วิญญาณ ได้แก่ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส เช่น รับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พูดง่าย ๆ วิญญาณ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการคิด ตราบใดที่ส่วนทั้ง ส่วนดังกล่าวนี้ยังคุมกันอยู่ ทำงานร่วมกันอยู่ ตราบนั้น คน ก็มีอยู่ แต่มีอยู่อย่างสมมติ (คือสมมติว่าเป็นคน) เท่านั้นเอง

3. ความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
         ข้อความน่ารู้ในพระไตรปิฎก เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงหรืออธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วสรุปเป็นหลักการ คำสอน คำเตือนสติ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ข้อความน่ารู้ในพระไตรปิฎกส่วนมากจะปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นบุคลาธิษฐาน คือ ตรัสแสดงโยยกบุคคล เวลา สถานที่ และสิ่งของเข้ามาเกี่ยวข้องให้เป็นเรื่องราว พระสุตตันปิฎกจึงมีเนื้อหาเข้าใจได้ง่าย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์ ข้อความน่ารู้ในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมาก สำหรับที่กำหนดให้เลือกศึกษาในชั้นนี้มีเพียง 1 เรื่องจากเรื่องต่อไปนี้
1. แก่นพระศาสนา
ข้อความน่ารู้เรื่องนี้มาจากมหาสาโรปมสูตร มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 347 – 351 หน้า 362 – 364
         สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ เขตพระนครราชคฤห์ พระองค์ได้ตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสปรารภพระเทวทัตที่คิดจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนพระองค์ว่า ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา สละเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าจะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อบวชแล้วได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เกิดมีความยินดี ยกตนข่มผู้อื่นว่า ไม่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเหมือนตน เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนยุคคลผู้มีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่ไม่รู้จักแก่น ตัดเอากิ่งและใบถือไปด้วยคิดว่าแก่น บุคคลผู้มีปัญญาเห็นเจาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขา ก็ไม่อาจสำเร็จได้ ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบวชแล้ว หากมีความยินดีในลาภสักการะและความสรรเสริญ เราเรียกว่าได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ (สาสนา) และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น
         ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา สละเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าจะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อบวชแล้วได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ ไม่มีความยินดี ในลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ความประมาท ทำให้ศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วมีความยินดีในความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งศีลนั้น ยกตนข่มผู้อื่นว่ามีศีล มีกัลยาณธรรมด้อยกว่าตน เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนบุคคลผู้มีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่ไม่รู้จักแก่นไม้ กลับถากเอาสะเก็ดถือไปด้วยคิดว่าแก่น ผู้มีปัญญาเห็นเขาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้ไม่รู้จักแก่นไม้ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขาก็ไม่อาจสำเร็จได้ ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบวชแล้วไม่มีความยินดีในลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แต่กลับมีความยินดีในศีลที่ตนทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราเรียกว่า ได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น
         ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา สละเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าจะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อบวชแล้ว ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เขาไม่มีความยินดี ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ทำให้ศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ มีความยินดีในศีลนั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ทำสมาธิให้ถึงพร้อม มีความยินดีในความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น ยกตนข่มผู้อื่นว่า มีสมาธิไม่เหมือนตน เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาทเพราะถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่ไม่รู้จักแก่น ถกเอาเปลือกถือไป ด้วยคิดว่าแก่น บุคคลผู้มีปัญญาเห็นเขาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้นี้ไม่รู้จักแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขาก็ไม่อาจสำเร็จได้ ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบวชแล้วไม่มีความยินดีในลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ไม่ยินดีในศีลที่ตนทำให้ที่ตนทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่มีความยินดีในความถึงพร้อมแห่งสมาธิ เราเรียกว่า ได้ถือเอาเปลือกของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น
         ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา สละเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าจะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อบวชแล้ว ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เขาไม่มีความยินดี ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ทำให้ศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ มีความยินดีในศีลนั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ทำสมาธิให้ถึงพร้อม มีความยินดีในสมาธิอันนั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมทำญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณ) ให้เกิดขึ้น แล้วมีความยินดี ยกตนข่มผู้อื่นว่า ไม่รู้ ไม่เห็น เท่าที่ตนรู้และเห็น เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่ไม่รู้จักแก่น ถากเอากระพี้ถือไป ด้วยคิดว่าแก่น บุคคลผู้มีปัญญาเห็นเขาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้นี้ไม่รู้จักแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขาก็ไม่อาจสำเร็จได้ ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบวชแล้วไม่มีความยินดีในลาภสักการะและความสรรเสริญ ไม่ยินดีในศีลที่ตนทำให้ที่ตนทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และไม่ยินดีในสมาธิที่ตนทำให้ถึงพร้อม แต่มีความยินดีในญาณทัสสนะ เราเรียกว่า ได้ถือเอากระพี้ของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้น
         ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา สละเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่าจะทำความทุกข์ให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อบวชแล้ว ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เขาไม่มีความยินดี ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ทำสมาธิถึงพร้อม มีความยินดีในสมาธินั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ทำให้ญาณทัสสนะเกิดขึ้น มีความยินดีในญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมทำอสมยวิโมกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุจะเสื่อมจากอสมยวิโมกข์นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีความต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่ถากเอาแก่นถือไป บุคคลผู้มีปัญญาเห็นเขาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้นี้รู้จักแก่น รู้จักกระพี้ รู้จักปลือก รู้จักสะเก็ด รู้จักกิ่งและใบ กิจที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ของเขาก็จะสำเร็จ ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบวชแล้วไม่มีความยินดีในลาภสักการะและความสรรเสริญ ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ทำศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทำสมาธิให้ถึงพร้อม ทำญาณทัสสนะให้เกิดขึ้น และทำอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุนั้นจะเสื่อมจากอสมยวิมุตินั้น มิใช้ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
         ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ จึงมิใช่ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่ความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช้มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้นจากความทุกข์) อันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่นเป็นที่สุด พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว พระภิกษุต่างก็พากันชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระพุทธเจ้า
จากข้อความน่ารู้เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า ไรเป็นแก่น กระพี้ เปลือก สะเก็ดไม้ กิ่งและใบของพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนประกอบของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่แก่น กระพี้ จนถึงกิ่งและใบดังกล่าวนี้
        

พระไตรปิฎก

สาระสำคัญ
           พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บรรจุหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมดไว้ สามารถพิจารณาได้หลายแง่มุมตามลักษณะเนื้อหา การพิจารณาพระไตรปิฎกในแง่กถา 3 และศาสน์ 3 จะทำให้เข้าใจพระไตรปิฎกง่ายขึ้นในพระไตรปิฎกมีข้อความน่ารู้จำนวนมาก การศึกษาข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก จะช่วยให้เข้าใจพระไตรปิฎกยิ่งขึ้น และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

จุดประสงค์การเรียนรู้
1. บอกสาระสำคัญละอธิบายความสัมพันธ์ของพระไตรปิฎกในแง่กถา 3 และศาสน์ 3 ได้
2. วิเคราะห์สาระสำคัญของข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎกที่กำหนดให้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

         พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด แบ่งเป็นหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ตามลักษณะเนื้อหาได้ 3 หมวด หรือ 3 คัมภีร์ ได้แก่
1. พระวินัยปิฎก หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระวินัย เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสั่งสอนว่าด้วย เรื่องศีล หรือ ข้อปฏิบัติ ของพระภิกษุและพระภิกษุณี พร้อมทั้งบทลงโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามความผิดที่ได้ล่วงละเมิดศีลหรือข้อปฏิบัตินั้น ๆ เรื่องพิธีและระเบียบปฏิบัติ ของพระภิกษุในพิธีนั้น และเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่เกี่ยวกับศีลหรือศาสนพิธีใด ๆ เช่น ประวัติพระพุทธศาสนา
การสังคยานาครั้งที่ และครั้งที่ 2 เป็นต้น
         พระวินัยปิฎก ได้แก่พระไตรปิฎกจำนวน 8 เล่ม ตั้งแต่ เล่ม 1 ถึงเล่ม 8
2. พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระสูตร เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสั่งสอนว่าด้วย เรื่องพระธรรมเทศนาและคำบรรยายธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุ พระภิกษุณี บุคคล หรือกลุ่มคน ในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ โดยทรงชี้นำให้รู้เห็นข้อเท็จจริงแห่งชีวิต และชี้นำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังว่าด้วยเรื่องหลักการของพระพุทธศาสนา เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก หลักคำสอนของพระเถระ พระเถรี เทวดา เป็นต้น
         พระสุตตันตปิฎก ได้แก่ พระไตรปิฎกจำนวน 25 เล่ม ตั้งแต่เล่มที่ 9 ถึงเล่มที่ 33
3. พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระอภิธรรม เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสั่งสอนว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมหรือหลักธรรมที่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคล สัตว์ หรือสถานที่ใด ๆ โดยทรงแสดงชี้นำให้รู้ให้เข้าใจในสภาวะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง ได้แก่ สภาวะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้มีความโกรธ ย่อมสามารถทำผิดโดยไม่ยั้งคิด ย่อมสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งบิดามารดาหรือผู้มีพระคุณ ก็จะอธิบายว่า ลักษณะความโกรธคืออะไร ประกอบด้วย เจตสิก (คุณสมบัติของจิต) ที่เป็นฝ่ายชั่วอะไรบ้าง ความโกรธเมื่อจะเกิดขึ้นมีขั้นตอนการเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง วิธีจะให้ดับไปจะต้องทำอย่างไรบ้าง การอธิบายความโกรธในแง่หลักวิชา ไม่กล่าวถึงบุคคลและสถานที่อย่างนี้เป็นลักษณะของพระอภิธรรมปิฎก
         พระอภิธรรมปิฎก ได้แก่ พระไตรปิฎกจำนวน 12 เล่ม ตั้งแต่เล่มที่ 34 ถึงเล่มที่ 45


                                                    แผนผังพระไตรปิฎก

                                                         พระไตรปิฎก

                   พระวินัยปิฎก           พระสุตตันตปิฎก              พระอภิธรรมปิฎก
              1. มหาวิภังค์                1. ทีฆนิกาย                         1. ธัมมสังคณี
              2. ภิกขุณีวิภังค์            2. มัชฌิมนิกาย                    2. วิภังค์
              3. มหาวรรค                 3. สังยุตตนิกาย                   3. ธาตุกถา
              4. จุลวรรค                   4. อังคุตตรนิกาย                 4. ปุคคลบัญญัติ
              5. ปริวารวรรค              5. ขุททกนิกาย                     5. กถาวัตถุ
                                                                                              6. ยมก
                                                                                              7. ปัฏฐาน  
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระไตรปิฎกแต่ละปิฎกมีเนื้อหายาวมาก จึงมีการศึกษาและพิจารณาในแง่มุมต่าง ๆ กัน โดยยึดเอาตามลักษณะบางอย่าง เช่น ลักษณะการแสดงหรือการสั่งสอน (เทศนา) ลักษณะการศึกษา (สิกขา) เป็นต้น สำหรับการศึกษาพระไตรปิฎกในชั้นนี้นักเรียนจะได้ศึกษาในแง่ของการกล่าวหรือการอธิบาย (กถา) และในแง่ของการสอนหรือการ
สั่งสอน (ศาสน์)